โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สนองพระราชดำริ โดย (อพ.สธ.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก)

การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ และแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อสนับสนุนการผลิตยาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างเพียงพอและเหมาะสม

สร้างเมื่อ 28/06/2567 17:10

วัตถุประสงค์

  1. มีแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์พืชสมุนไพรและยาแผนไทยที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ เป็นศูนย์ศึกษา เรียนรู้และอ้างอิงข้อมูลพืชสมุนไพรและยาแผนไทยของนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ประชาชน
  2. พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้มีคุณภาพ ประชาชนเกิดความมั่นใจและให้ความสนใจต่อการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเพื่อดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น

กิจกรรมย่อยที่ 1 ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในชุมชน / อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืชอย่างยั่งยืน

  • สร้างศูนย์กระจายพันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อรองรับวัตถุดิบสมุนไพร
            กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร ลงนามความร่วมมือกับวัดชูจิตธรรมาราม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้พื้นที่ในการอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพร ตลอดจนเป็นสถานอนุบาลเพาะพันธุ์พืชสมุนไพรและกระจายสู่ชุมชน เพื่อส่งเสริมการปลูกสมุนไพรให้เพียงพอ โดยในปีงบประมาณ 2558 กองยาแผนไทยและสมุนไพรได้เริ่มปรับปรุงพื้นที่สวนสมุนไพรและโรงเรือนเพาะกล้าพันธุ์พืชสมุนไพรไปได้กว่า 60 % โดยได้ขนย้ายกล้าพันธุ์พืชสมุนไพรจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชโลธร จ.ชลบุรี เพื่อนำร่องปลูกและดูแลรักษา ณ สวนสมุนไพรดังกล่าว ซึ่งได้รับเกียรติจากนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานเปิดโรงเรือนเพาะกล้าพันธุ์พืชสมุนไพร เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ทั้งนี้จะมีการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อกระจายกล้าพันธุ์พืชสมุนไพรให้แก่กลุ่มเกษตรกรต่อไป

สร้างเครือข่ายอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในป่าชุมชน
        กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ลงนามความร่วมมือกับกรมป่าไม้ เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ประโยชน์สมุนไพรจากป่าชุมชน โดยในปี 2558 ได้ร่วมกันคัดเลือกพื้นที่ป่าชุมชนที่มีความพร้อมจำนวน 60 แห่ง ประกอบด้วย

  • ภาคใต้ จำนวน 10  แห่ง
  • ภาคเหนือ จำนวน 19 แห่ง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 17  แห่ง
  • ภาคกลางและตะวันออก จำนวน 14  แห่ง

กิจกรรมย่อยที่ 2 พัฒนาสินค้า OTOP สู่มาตรฐานสากล และกิจกรรมย่อยที่ 5 ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาด

  • พัฒนาคุณภาพและรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้มีคุณภาพ มีความน่าสนใจและสะดวกต่อการใช้ประโยชน์ใน  ทุกเพศทุกวัย โดยได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 50 แห่ง รวม 50 ผลิตภัณฑ์